Thai Monarchy and Switzerland Home > Thai Monarchy and Switzerland

สายสัมพันธ์ทางใจ สานสายใยไทย-สวิส

เรียบเรียงโดย นางสาวพรพิมล สมนึก

นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น

สมาพันธรัฐสวิส หรือที่คนไทยมักเรียกว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มิได้มีเพียงชื่อเสียงในมุมมองสำหรับคนไทยว่าเป็นชาติที่วางตัวเป็นกลางในประชาคมโลก มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่ง เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งผลิตนาฬิกาชั้นดีและช็อกโกแลตรสเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทางด้านจิตใจ นั่นคือ ประเทศนี้เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ถึงสองพระองค์ และยังมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยพึงจารึกไว้นานัปการ

ความสัมพันธ์ในระดับรัฐ ระหว่างประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์เริ่มต้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป โดยได้เสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์ทั้งสองครั้งในปี พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450 ต่อมาทั้งสองประเทศได้ลงนามย่อในสนธิสัญญาไมตรีและการค้าระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ณ กรุงโตเกียว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองประเทศจึงได้ถือให้วันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ทั้งนี้ การลงนามสนธิสัญญาฯ ดังกล่าวได้มีขึ้นในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ดังนั้นในปี พ.ศ. 2554 ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์จึงจะมีวาระครบ 80 ปี ซึ่งตลอดช่วงเวลาเหล่านี้มีความราบรื่นตลอดมา และรัฐบาลทั้งสองประเทศจะเฉลิมฉลองวาระที่น่ายินดีเช่นนี้ต่อไป

ราชสกุลมหิดล

ภายหลังจากสมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคตในปีพ.ศ. 2472 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา ได้ทรงประทับอยู่เมืองไทยกระทั่งมีพระชนมายุ 5 พรรษา จึงทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ กระทั่งปี พ.ศ. 2476 จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) ในวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูเวล เดอ ลา ซืออีส โรมองต์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) ต่อมาทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ (Bachelier es Lettres) จาก โรงเรียนมัธยมคลาซีค กังโตนาล (Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์ เมื่อ พ.ศ. 2488 และในปีเดียวกันนั้นทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ (Université de Lausanne) โดยทรงเลือกศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์

พระอิริยาบถของรัชกาลที่ 8 และ 9 เมื่อครั้งทรงประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "แม่เล่าให้ฟัง" ความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเลือกทะเลสาบเลอมอง (Lac Leman) เขตปุยยี (Pully) เป็นสถานที่พักผ่อนอยู่เสมอ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบและกรรเชียงเรือเล่นในทะเลสาบแห่งนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวสวิสนิยมในช่วงฤดูร้อน

ห่างจากทะเลสาบเลอมองไม่ไกลนักบนถนนทิสโซต์ เป็นที่ตั้งของแฟลตเลขที่ 16 ที่ทั้งสี่พระองค์ทรงใช้เป็นที่ประทับในช่วงปีพ.ศ. 2476-2478 ห่างจากแฟลตจะเป็นที่ตั้งของที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำเนินไปส่งจดหมายถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และไม่ไกลกันคือสถานีรถไฟและตลาดที่ทั้งสี่พระองค์ทรงซื้อเครื่องเสวยเป็นประจำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่มาทรงสละราชสมบัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 9 พรรษา ดังนั้นเพื่อให้สมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงทรงย้ายจากแฟลตไปประทับที่บ้านเช่าบนเนินเขาไม่ไกล จากทะเลสาบเลอมอง บ้านเลขที่ 51 บนถนน Chamblandes Dessusy ทรงตั้งชื่อว่า “วิลลาวัฒนา” (Villa Vadhana) และประทับอยู่นานกว่า 10 ปี ลักษณะเป็นบ้าน 3 ชั้น มี 13 ห้องมีสวนผลไม้อยู่รายล้อม ปัจจุบันเจ้าของได้พัฒนาเป็นแฟลต 3 ชั้นให้เช่า

พระตำหนักวิลล่าวัฒนาในอดีต

บนเนินเขาใกล้กับพระตำหนักวิลล่าวัฒนามีสวนสาธารณะเดอ น็องตู (Parc du Denantou) ให้ทั้งสี่พระองค์ได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่เป็นประจำ พื้นที่ด้านในมีน้ำพุรูปปั้นลิงสามตัว กำลังทำท่าปิดหู ปิดปาก และปิดตา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงนิพนธ์ว่าหมายถึง “ไม่ยอมฟัง ดู พูดในสิ่งที่เลว”

ต่อมาในปี 2478 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2481 แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระทั่งปี พ.ศ. 2488 จึงโดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทยเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิมเพื่อให้เหมาะสมกับการนำมาใช้ดูแลปวงชนชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ในวันราชาภิเษกสมรส

ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร และต่อมาได้ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นปีพ.ศ. 2493 เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครและโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมในปีเดียวกัน หลังจากนั้นจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรกคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ (Clinique de Montchoisi) เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ 4 เมษายนพ.ศ. 2494 และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรหลังจากทรงประทับพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2476 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494 รวม 18 ปี

กาลต่อมา เมื่อวันที่ 29-31 สิงหาคม 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการเพื่อเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยและสมาพันธรัฐสวิสให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งเยือนสวิตเซอร์แลนด์

ชาวสวิสรอชื่นชมพระบารมีกันอย่างเนืองแน่นบริเวณสถานีรถไฟเมืองโลซานน์

ด้วยสายสัมพันธ์ทางจิตใจที่ประชาชนชาวไทยมีให้กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ประทับของหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ ผู้ทรงสถิตอยู่ในใจคนไทยทั้งแผ่นดิน และด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิสที่จะมีวาระครบปีที่ 80 ใน พ.ศ.2554 นี้ ความสัมพันธ์ทั้งระหว่างชาวไทยและชาวสวิส และระหว่างรัฐต่อรัฐย่อมดำเนินไปอย่างราบรื่นและแนบแน่นยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะความผูกพันทางจิตใจอันมีรากฐานที่แนบแน่น ย่อมนำไปสู่มิตรภาพที่ยั่งยืน

ข้อมูลอ้างอิง

  • กัลยาณิวัฒนา, กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. 2525. แม่เล่าให้ฟัง. พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.

  • กัลยาณิวัฒนา, กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. 2530. เจ้านายเล็กๆ- ยุวกษัตริย์. พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขและเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

  • นิศารัตน์ สีตะสุวรรณ. 2543. สวิตเซอร์แลนด์. กรุงเทพฯ : อทิตตา.

  • รังสฤษฎิ์ บุญชะลอ. 2542. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 (72 พรรษามหาราช). ปทุมธานี : สกายบุ๊กส์.

  • โรงเรียนจิตรลดา.2539. ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์ (The Musical Compositions of His Majesty King Bhumibol Adulyadej of Thailand). กรุงเทพฯ : โรงเรียนจิตรลดา.

  • วิเชียร เกษประทุม. 2542. ราชาศัพท์ฉบับสมบูรณ์และพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมพระราชวงศ์โดยสังเขป. กรุงเทพฯ : มิตรสัมพันธ์.

  • อุดม เชยกีวงศ์. 2550. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9. กรุงเทพฯ : แพลทินัม.